ผ้าไตรจีวร ถือเป็นเครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ ซึ่งมีความนัยแฝงคือ การตัดกิเลส ที่จะเลือกเครื่องนุ่งห่มจากความสวยงามหรือความชอบ
ในสมัยพุทธกาล การที่พระภิกษุจะหาผ้ามาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มทำได้ยากมาก พระภิกษุต้องเก็บผ้าที่เปื้อนฝุ่นตามถนน ผ้าสกปรกจากกองขยะ หรือแม้กระทั่งจากผ้าห่อศพในป่าช้า เมื่อได้ผ้าเหล่านั้นมาแล้ว พระภิกษุจะนำผ้ามาตัดและเย็บต่อกัน แล้วนำไปซักให้สะอาดและย้อมให้เป็นสีเดียวกันด้วยสีตามธรรมชาติ เช่น สีจากเปลือกไม้ แล้วอธิษฐานใช้เป็นจีวร จึงเรียกผ้านั้นว่า ผ้าบังสุกุล หรือ ผ้าป่า
การนุ่งห่มของพระสงฆ์ตามข้อกำหนดของพระวินัยและประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เมื่อพระเดินทางออกนอกวัดจะต้องนุ่งห่มอย่างรัดกุมด้วยการห่มจีวร ปิดคลุมไหล่ทั้งสองด้าน และห้ามแต่งกาย นุ่งห่ม สวมเสื้อผ้า อย่างชาวบ้าน รวมถึงห้ามใช้เสื้อ หมวก ผ้าโพก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ภิกษุวุ่นวายกับการแต่งกายลักษณะเดียวกับคนทั่วไป จนอาจเกิดความสิ้นเปลือง คำครหา ติเตียน ลดทอนความเลื่อมใสศรัทธาต่อหมู่สงฆ์
ด้วยความที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่มักใช้เวลาอยู่ในวัด เพื่อปฏิบัติธรรมและทำภารกิจของสงฆ์ ดังนั้น ผ้าไตรที่นำมาถวายนั้น จะช่วยให้พระสงฆ์หมดความกังวลใจว่าจะไม่มีเครื่องนุ่งห่ม และสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ อีกทั้ง ผ้าไตร ยังช่วยป้องกันความหนาวเย็น ตลอดจนแมลงต่าง ๆ ได้อีกด้วย อันจะส่งผลให้ผู้ถวายได้รับบุญกุศลอย่างเต็มที่
ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่า หากเกิดชาติภพหน้า ผู้ถวายผ้าไตรจะมีหน้าตารูปร่างสวยงาม มีผิวพรรณผุดผ่องแจ่มใส และสติปัญญาดี พ้นจากความยากลำบากและความยากจน